หน่วยการเรียนรู้ที่2 การใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์

 หน่วยการเรียนรู้ที่2 การใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
ประวัติความเป็นมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าสงขลา ทิศเหนือจดถนนรองเมือง ทิศใต้จดถนนจะนะ ทิศตะวันออกจดถนนไทรบุรี ทิศตะวันตกจดถนนวิเชียรชม ห่างจากทะเลสาบสงขลา ประมาณ 200 เมตร พื้นที่ 11 ไร่ 21.7 ตารางวา อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา เดิมเป็นบ้านของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2421 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การสร้างบ้านสันนิษฐานว่าใช้เวลาหลายปี จากหลักฐานที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้บันทึกไว้ในเรื่อง ชีวิวัฒน์เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวที่ต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ. 2427 ความว่า ที่มุมเมืองนอกกำแพงด้านเหนือตะวันตก มีตึกหมู่หนึ่งหันหน้าลงน้ำ ไกลน้ำประมาณ 4 – 5 เส้น เป็นตึก 2 ชั้น วิธีช่างทำ ทำนองตึกฝรั่งยังทำไม่แล้วเสร็จ ข้างในเป็นตึก 2 ชั้น 3 หลัง วิธีช่างทำ ทำนองจีนแกมฝรั่ง ทำเสร็จแล้ว มีกำแพงบ้านก่ออิฐเป็นบริเวณ บ้านตึกหมู่นี้เป็นบ้านหลวงอนันตสมบัติ บุตรพระยาสุนทรา บิดาได้ทำไว้ยังค้างอยู่ได้ใช้เป็นบ้านพักส่วนตัวของตระกูล ณ สงขลา และในปี พุทธศักราช 2447 (ร.ศ.123) ทางรัฐบาลได้ซื้ออาคารดังกล่าวจาก พระอนันตสมบัติ ( เอม ณ สงขลา) บุตรพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ในราคา 28,000 บาท เพื่อใช้เป็นศาลามณฑลนครศรีธรรมราช จากการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ในปี พ.ศ.2439 ได้ตั้งเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช ศูนย์บัญชาการอยู่ที่สงขลา พระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้บัญชาการมณฑล เจ้าเมืองสงขลาถูกเปลี่ยนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมือง ขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการมณฑล และได้ใช้อาคารนี้เป็นที่ว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช จนถึงพุทธศักราช 2460 ได้มีการเปลี่ยนระบบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ให้ใช้คำว่า จังหวัด แทนชื่อเมือง เมืองสงขลาจึงเป็นจังหวัดสงขลา ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ยังขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาปี พ.ศ. 2476 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตย จังหวัดสงขลาจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทย ยังคงใช้อาคารนี้เป็นที่ทำการศาลากลางจังหวัดสงขลา ถึง พ.ศ. 2496 จึงย้ายที่ทำการศาลากลางจังหวัดสงขลาไปอยู่ ณ ถนนราชดำเนินปัจจุบัน ตัวอาคารหลังนี้จึงถูกทิ้งร้างอยู่หลายปี วันที่ 6 มิถุนายน 2516 กรมศิลปากร จึงประกาศขึ้นทะเบียนอาคารแห่งนี้เป็นโบราณสถานและได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามกุฏราชกุมาร เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา วันที่ 25 กันยายน 2525 

ลักษณะสถาปัตยกรรมของอาคารอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมยุโรป สร้างเป็นตึกก่ออิฐสอปูน 2 ชั้น บ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันตก หันหน้าสู่ทะเลสาบสงขลา ลักษณะตัวบ้านยกสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ปลูกเป็นเรือนหมู่ 4 หลัง เชื่อมติดกันด้วยระเบียงทางเดิน มีบันไดขึ้น2 ทาง คือด้านหน้าและตรงกลางลานด้านใน กลางบ้านเป็นลานเปิดโล่งสำหรับปลูกต้นไม้หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ด้านหน้าอาคารมีสนามและมีอาคารโถงขนาบสองข้าง ด้านหลังมีสนามเช่นเดียวกัน พื้นที่โดยรอบอาคารเป็นสนามหญ้าและสวนมีกำแพงโค้งแบบจีนล้อมรอบ อาคารชั้นบน ห้องยาวด้านหลัง มีบานประตูลักษณะเป็นบานเฟี้ยม แกะสลักโปร่งเป็นลวดลายเล่าเรื่องในวรรณคดีจีน สลับลายพันธุ์พฤกษา หรือลายมังกรดั้นเมฆ เชิงไข่มุกไฟ ส่วนหัวเสาชั้นบนของอาคารมีภาพเขียนสีเป็นภาพเทพเจ้าจีน หรือลายพฤกษา ภายในห้องตรงขื่อหลังคา จะมีเครื่องหมายหยินหยาง โป้ยป้อ หรือ ปากั้ว เพื่อป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ตามคตินิยมของชาวจีน หลังคามุงกระเบื้องสองชั้นฉาบปูนเป็นลอน สันหลังคาโค้ง ปลายทั้งสองด้านเชิดสูงคล้ายปั้นลมของเรือนไทย ภายนอกอาคาร บริเวณผนังใต้จั่วหลังคา มีภาพประติมากรรมนูนต่ำสลับลายภาพเขียนสี เป็นรูปเทพเจ้าจีนและลายพันธุ์พฤกษา
กิจกรรม>>จัดบริการทางการศึกษา เช่น การบรรยายนำชม ฉายวีดีทัศน์ จัดนิทรรศการพิเศษ พิพิธภัณฑ์สัญจร >>จัดทำเอกสารเผยแพร่ทางวิชาการเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาแก่โรงเรียนและผู้สนใจ
>>บริการหัองสมุดพิพิธภัณฑ์
>>ให้คำแนะนำการจัดพิพิธภัณฑ์ตามหลักการพิพิธภัณฑ์วิทยา และการจัดทำทะเบียนบัญชีโบราณวัตถุศิลปวัตถุ
>>จำหน่ายหนังสือวิชาการโบราณคดี ประวัติศาสตร์ โปสการ์ด และหนังสือนำชม
 >>บริการคำขอรับใบอนุญาตส่ง หรือนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุออกนอกราชอาณาจักร


เวลาทำการอาคารจัดแสดง เปิด วันพุธ ถึง วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิด วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำนักงาน เปิดทำการทุกวัน ยกเว้น วันหยุดนักขัตฤกษ์ โทรศัพท์ 074 – 311728 ต่อ 0 (สำนักงาน) โทรสาร 074 – 311881

ที่มา http://thai-culture.net/songkhla/detailcontent.php?sub_id=55